เมื่อพูดถึงสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันนี้ หลาย ๆ คนก็คงจะนึกถึงสุนัข แมว กระต่าย นก ปลา และสัตว์ชนิดอื่นที่หน้าตาน่ารักน่าเลี้ยง แต่ก็มีสัตว์อีกหลายชนิดที่หลายคนกลัวรูปร่างภายนอกของมัน และนึกไม่ถึงว่าจะนำมาเลี้ยงได้เลย อย่างเช่นสัตว์ที่เราจะพาไปรู้จักกนในวันนี้ นั่นคือ “ตุ๊กแกลายเสือดาว” นั่นเอง ตุ๊กแกชนิดนี้ไม่เหมือนตุ๊กแกตามบ้านที่เราเคยเห็นกันทั่วไป ดู ๆ ไปแล้วจะเหมือนจิ้งจกมากกว่า น้องน่ารัก เป็นมิตร ไม่ดุร้ายและมีรอยยิ้มที่เป็นเอกลักษณ์ เคยมีคนนำรูปน้องตอนอ้าปาก(แต่ดูเหมือนน้องยิ้มให้กล้องมากกว่า) โพสต์ลงอินเตอร์เน็ตจนเป็นมีมที่เราเห็นตามโซเชียลบ่อย ๆ ถ้าใครเริ่มอยากรู้จักน้องให้มากขึ้นหรือกำลังตัดสินใจจะเลี้ยง เราลองมาศึกษาข้อมูลของน้องและวิธีการเลี้ยงกัน
ลักษณะภายนอก
หัว : ตัวผู้จะมีขนาดของหัวที่ใหญ่กว่าตัวเมีย
ดวงตา : มีขอบตาที่นูนหนาโดยรอบดวงตาชัดเจน ส่วนรูม่านตาจะขยายเมื่ออยู่ในที่แสงน้อยหรือที่มืด ทำให้ตาดำขยายเต็มเบ้าตาจนเห็นได้ชัด
จมูก : อยู่บริเวณปลายสุดของหัว เหมือนตุ๊กแก จิ้งจก จิ้งเหลน
ปาก : มีปากที่กว้างมาก เมื่อเวลาอ้าปากมักจะถูกมนุษย์มองว่ากำลังยิ้มอยู่เสมอ
ช่องปาก : มีฟันซี่เล็ก ๆ และแหลมคม เพื่อใช้เคี้ยวเหยื่อหรืออาหาร และมีลิ้นที่พิเศษไว้ใช้คอยชิมรสชาติและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมโดยรอบได้ด้วย
หู : อยู่บริเวณช่วงระหว่างคอและดวงตา เป็นรูเล็ก ๆ ด้านในมีเยื่อแก้วหูบาง ๆ สามารถมองทะลุได้
ขา,เท้า,นิ้วเท้า : น้องมีทั้งหมด 4 ขา 4 เท้า ในแต่ละเท้ามีทั้งหมด 5 นิ้ว แต่นิ้วจะแยกจากกันชัดเจน ไม่เป็นพังผืดเหมือนตุ๊กแกบ้านและจิ้งจก ส่วนเล็บค่อนข้างแหลมคมเลยทีเดียว
ลำตัว : จะคล้ายตุ๊กแกบ้านผสมจิ้งจก ช่วงท้องถ้ามองด้านบนจะดูอวบอ้วน มีลวดลายสวยงาม
รักแร้หรือข้อพับ : เมื่อตุ๊กแกตัวอ้วนขึ้นหรือมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นจะมีตุ่มคล้าย ๆ ตุ่มน้ำปูดขึ้นมา
หาง : ใช้สำหรับเก็บสารอาหาร และเรายังสามารถตรวจสอบความสมบูรณ์ของร่างกายน้องได้จากหางตรงนี้อีกด้วย
สีสัน : ขึ้นอยู่กับลักษณะของพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์และความตั้งใจของแต่ละผู้พัฒนาเพาะเลี้ยง
ที่มาและถิ่นกำเนิด
ตุ๊กแกลายเสือดาวเป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในทะเลทรายแถบทวีปเอเชียใต้ บริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือในประเทศอินเดีย และในบางพื้นที่ของประเทศปากีสถาน, อิหร่าน, ตุรกี, ซีเรียและบริเวณโดยรอบพื้นที่นี้ และสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงในปัจจุบันนี้ส่วนมากนำมาจากประเทศปากีสถาน แต่ที่น้องเป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงกันมากในทุกวันนี้ไม่ได้เป็นเพราะคนในพื้นที่ถิ่นกำเนิดของน้องเลยสักนิด แต่เป็นเพราะชาวสหรัฐอเมริกาเป็นผู้เริ่มนำมาเลี้ยงในฐานะสัตว์เลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ต่างหาก จนผ่านไปไม่นานก็มีคนนิยมเลี้ยงน้องมากขึ้นในหลายประเทศและได้มีการเผยแพร่มาถึงบ้านเราเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง เว็บสล็อต pg slot
พฤติกรรมของน้อง
เห็นหน้าตาอย่างนี้ น้องเชื่องและจำเจ้าของได้นะ รวมไปถึงน้องสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนเลี้ยงได้ เช่น คอยมองมือ มองหน้า ดมมือเราเวลาไปใกล้ ๆ ในบางตัวนั้นเชื่องมาก ๆ ก็จะมีการเลียมือ หรือนอนบนมือ บนตักคนเลี้ยงได้เลย เวลามีคนเข้ามาใกล้ ถ้าคุ้นเคยหรือจำกันได้ น้องจะเดินมาเกาะผนังกล่องพร้อมส่งสายตาอ้อน ๆ ให้ปล่อยออกมาเดินเล่นได้ด้วย ซึ่งความเชื่องก็จะขึ้นอยู่กับและลักษณะนิสัยของแต่ละตัวและวิธีการเลี้ยงเช่นกัน
เจ้าตุ๊กแกสายพันธุ์นี้เป็นสัตว์ที่ค่อนข้างขี้สงสัย น้องจะชอบเดินสำรวจพื้นที่ในกล่องเลี้ยง หรือบางทีถ้าเราปล่อยน้องออกมา เดิน น้องก็จะออกมาเดินเล่นทั่วทั้งห้องก็ได้ ดังนั้นควรปล่อยเดินอย่างระมัดระวังและอยู่ในสายตาตลอดเวลา ในกรณีที่ต้องการจับน้องออกมาเดินหรือจับเข้ากล่องควรใช้มืออ้อมไปด้านหลังน้องแล้วช้อนไปกลางลำตัว ไม่ควรเข้าด้านหน้าเพราะน้องจะตกใจ นึกว่ามีศัตรูหรือสัตว์นักล่ามาทำร้าย อาจโดนกัดได้ เลเวลความเจ็บเวลาโดนน้องกัดก็จะประมาณโดนไม้หนีบผ้าหนีบแค่นั้นเอง เมื่อน้องกัดน้องจะรีบปล่อย อาจใช้เวลาแค่ 1 วินาที ไม่ได้กัดแล้วงับคาไว้เหมือนตุ๊กแกบ้าน และไม่ควรจับที่หางน้องเด็ดขาด เพราะถ้าน้องตกใจมาก ๆ จะสละหางตัวเองเหมือนจิ้งจกเพื่อเอาตัวรอด ปล่อยให้หางตัวเองดึงดูดนักล่านั่นเอง แต่ไม่ต้องห่วงเพราะหางน้องงอกใหม่ได้ แต่จะไม่สวยเหมือนเดิม หางจะหงิก ๆ งอ ๆ ไม่สวยเหมือนเดิม
สีสันและลวดลาย
ตุ๊กแกสายพันธุ์เหล่านี้เป็นตุ๊กแกลายเสือดาวทั้งหมด ซึ่งก็จะมีชื่อเรียกเฉพาะตามแต่ลายบนผิวหนังของน้อง ในต่างประเทศนั้นจะใช้คำว่า morph เป็นศัพท์ที่ไว้ใช้เรียกและจำแนกสีและลวดลายบนตัวน้องนั่นเอง ยิ่งมีสีที่แปลกและหายากก็จะมีราคาที่แพงขึ้น โดยในปัจจุบันนี้มีทั้งหมด 10 ลาย ดังนี้
APTOR มีที่มาจาก A=Albino, P=Patternless, T=Tremper, OR=Orange
ลักษณะ : มีลักษณะที่คล้ายกับ Raptor แต่สีตาจะไม่แดง
RAPTOR มีที่มาจาก R=Ruby eye, A=Albino, P=Patternless, T=Tremper, OR=Orange
ลักษณะ : ตัวและหางสีส้ม ตามลำตัวไม่มีจุด มีตาสีแดง ที่คล้ายกับ APTOR ก็เพราะเป็นลายที่พัฒนามาจาก APTOR นั่นเอง
Eclipse
ลักษณะ : มีตาสีดำ มีจุดที่บริเวณลำตัว สีเทา ๆ หม่น ๆ ลายนี้เกิดจากการพัฒนามาจากลายของ APTOR
Snow
ลักษณะ : มีลำตัวสีขาวตามชื่อลายเลย แต่จะมีจุดดำ ๆ อยู่บ้าง ซึ่งตอนเด็กจะเห็นชัด พอโตขึ้นมาอาจจะจางไปหรือมีสีเหลืองปนก็ได้
Bell albino, Tremper albino และ Rainwater albino
ลักษณะ : Albino นั้นคือตุ๊กแกเผือก เพราะฉะนั้นทั้ง 3 ลายนี้จึงเป็นตุ๊กแกเผือกทั้งหมด แต่ต่างกันตรงที่ Bell albino มีสีที่เข้มกว่าและสีตาจะออกแดงกว่า ส่วน Rainwater albino จะมีสีที่ขาวกว่า
Tangerine
ลักษณะ : มีลำตัวสีส้ม มีจุดที่หัวและลำตัว ส่วน Super hypo tangerine นั้นจะไม่มีจุดที่ลำตัวและที่หัว ถ้ามีจะมีจุดแค่ที่หางเท่านั้น
Blizzard
ลักษณะ : มีลำตัวสีขาวเทา มีตาสีดำ ส่วน Blazing blizzard จะต่างกันตรงที่มีสีขาวและมีตาสีดำอมแดง
Patternless
ลักษณะ : สำหรับลายนี้จะไม่ค่อยมีสีสันหรือลวดลายมากนัก ลำตัวจะมีสีออกเหลือง
Normal
ลักษณะ : เป็นตุ๊กแกที่เรียกได้ว่ามีสีที่เป็นมาตรฐานตามตุ๊กแกธรรมชาติทั่วไป มีลายเป็นจุดทั่วตัว มีสีออกเหลืองทั่วลำตัว
High Yellow
ลักษณะ : ถ้าดูเผิน ๆ แล้วลายนี้จะคล้ายกับลาย Normal แต่จุดจะน้อยกว่า เรื่องสีของตุ๊กแกก็จะสดกว่าด้วยเช่นกัน ทั้งสีเหลืองและจุดลายดำ
วิธีการเลี้ยง
สำหรับการเลี้ยงน้องตุ๊กแกสายพันธุ์นี้ก็เรียกว่าเลี้ยงง่าย อยู่ง่าย แทบไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะเหมือนน้องหมา น้องแมวหรือสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นเลย ใช้แค่กล่องพลาสติกใบเดียวน้องก็อยู่ได้แล้ว ที่แนะนำเป็นกล่องชั้นพลาสติกนั้นเพราะจะทำให้เลี้ยงได้หลายตัว ประหยัดพื้นที่และถอดล้างทำความสะอาดได้ง่ายนั่นเอง หรือจะเป็นตู้ปลา ตู้อะคริลิค หรือกล่องใสใบกลาง ๆ น้องก็อยู่ได้แล้ว แต่ควรเลี้ยงน้องแยก 1 กล่อง ต่อ 1 ตัว เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องน้องกัดกัน รวมไปถึงเรื่องโรคติดต่อด้วย
การจัดวัสดุและอุปกรณ์นั้นควรรองพื้นกล่องด้วยทรายละเอียดหรือทรายที่ใช้สำหรับสัตว์เลื้อยคลานโดยเฉพาะ หรือจะใช้เป็นกระดาษเอกสารทั่วไป(ที่ยังไม่ได้ใช้) เนื่องจากมีความสะดวกกว่าและสะอาด เปลี่ยนง่าย ไม่ทิ้งคราบและยังประหยัดอีกด้วย หากจะใช้หนังสือพิมพ์ก็ได้แต่ต้องทิ้งไว้ 7 วันขึ้นไป เพื่อให้เคมีจากหมึกพิมพ์ลดลงเสียก่อน และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ ที่นอนหรือมุมมืด ๆ ไว้ให้น้องซ่อนตัว เพื่อป้องกันไม่ให้น้องเครียดมากไปนั่นเอง โดยการใช้กล่องพลาสติกเล็ก ๆ เจาะรูที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว นำขุยมะพร้าวไปวางไว้ในนั้น และนำฟอกกี้ฉีดพ่นละอองน้ำไปที่ขุยมะพร้าวให้เปียกพอประมาณ ระวังอย่าให้เปียกจนเกินไป เพื่อให้น้องได้นอนพักและหลบซ่อนตัวได้อย่างสบายใจนั่นเอง
อุปกรณ์ภาชนะ
เรื่องนี้ก็สำคัญที่หลายคนมองข้าม ควรใช้ภาชนะที่ใส่ทั้งน้ำและอาหารแบบที่ไม่สูงและไม่เตี้ยเกินไป เป็นถ้วยที่มีปากกว้างเพื่อให้น้องได้กินน้ำ กินอาหารได้ง่าย น้ำที่ให้ควรเป็นน้ำดื่มของคนดีกว่า เพราะน้ำประปาจะมีคลอรีน ไม่เหมาะกับที่จะใช้เลี้ยงน้องโดยเปลี่ยนน้ำทุกวัน
อาหารที่ให้น้อง
อาหารหลักคือหนอนนก แต่เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดีของน้อง ควรนำหนอนนกมาคลุกกับผงแคลเซียมและให้น้องสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และในทุกวันควรให้ผงแคลเซียม วิตามินแยกไว้ในถ้วยให้น้องด้วย สาเหตุที่ต้องให้แคลเซียมน้องเยอะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้องเป็นโรคที่เกี่ยวกับกระดูก เช่น ขางอผิดรูป หรือขาบิดจนเห็นได้ชัดเจน บางตัวเป็นแล้วรักษาหายก็มี หรือบางตัวเป็นแล้วพิการไปเลยตลอดชีวิต ในตัวที่โชคร้ายอาจเป็นแล้วตายไปเลยก็มี ดังนั้นควรเสริมแคลเซียมเพื่อป้องกันโรคแบบนี้ไว้จะดีกว่า
ในบางคนอาจให้อาหารเสริมแก่น้องเป็นพวกลูกหนูตัวแดง ๆ หรือจิ้งหรีด ซึ่งการให้จิ้งหรีดนั้นค่อนข้างอันตราย เนื่องจากจิ้งหรีดจะชอบอยู่ใกล้หรือกินมูลของน้องตุ๊กแก ตรงนี้แหละที่น่ากลัว เพราะมูลของน้องนี่แหละที่มีโปรโตซัวและเชื้อโรคร้ายอื่น ๆ มากมาย เวลาเราให้จิ้งหรีดและน้องยังไม่ได้กินทันที อาจทำให้จิ้งหรีดตัวนั้นไปอยู่ใกล้กับมูลหรือกินมูลน้อง ทำให้น้องได้รับเชื้อโรคจากโปรโตซัวได้ทางอ้อมก็ทำให้น้องป่วยได้
โรคที่พบได้บ่อย
โดยโรคที่พบได้บ่อยในตุ๊กแกลายเสือดาวนั้นมีด้วยกัน 4 โรค ดังนี้
1. โรคเกี่ยวกับกระดูก : โรคที่ร้ายแรงอันดับแรกของตุ๊กแกเลยทีเดียว อย่างที่ได้เขียนไปในเรื่องอาหาร ว่าทำไมเราจึงต้องให้แคลเซียมที่ค่อนข้างเยอะ เพราะน้องมีโอกาสเป็นโรคกระดูกได้นั่นเอง หากขาดแคลเซียมหรือให้ไม่มากพอ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของน้อง
2. โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร : มีสิ่งแปลกปลอมอุดตันในช่องท้อง ที่พบได้บ่อยคือ หิน ทราย เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ใช้ตกแต่งกล่องหรือตู้ของน้องนั่นเอง เวลาน้องกินอาหารก็จะนำเศษหิน ทรายพวกนี้ติดเข้าไปในปากด้วย ผู้เลี้ยงจึงต้องสังเกตให้ดีว่าน้องซึมหรือกินอาหารได้น้อย มีมูลสีเขียว และมีพฤติกรรมที่แปลกไปหรือไม่
3. โรคผิวแห้ง : หากน้องขาดอาหารหรือมีความชื้นที่ไม่เพียงพอก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้ ซึ่งส่งผลต่อการสุขภาพภายนอกของน้อง
4. โรคพยาธิ : ควรไปหาหมอเพื่อทำการถ่ายพยาธิปีละ 1 ครั้ง
หลังจากที่ได้รู้จักน้องและได้เห็นลวดลายของน้องแล้วนั้น หลาย ๆ คนคงนึกอยากจะเลี้ยงน้องขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหมล่ะ แต่อย่างไรก็ตามการเลี้ยงสัตว์พิเศษชนิดนี้ก็ควรที่จะมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เพราะค่ารักษาน้องค่อนข้างสูงและควรคำนึงถึงระยะทางระหว่างสถานที่เลี้ยงและโรงพยาบาลสัตว์พิเศษ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสัตว์เลี้ยงทุกตัวเลย คือ “เวลา” เราควรมีเวลาให้กับสัตว์เลี้ยงเพื่อให้น้องเชื่อง น้องไม่เครียด และจะได้สังเกตอาการเจ็บป่วยของน้องได้ดีขึ้นด้วย
ข้อมูลเครดิต : edenreptile.com, petcitiz.info, ezpetbasic.blogspot.com
Credit ฝากถอนไม่มีขั้นต่ำ